ประวัติความเป็นมาของชุมชน วังเก่าจะบังติกอ เป็นวังโบราณของเจ้าเมืองปัตตานี ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำปัตตานีตรงสามแยกจะบังติกอบนเส้นทางถนนหน้าวัง ซึ่งเป็นถนนลาดยางเลียบแม่น้ำปัตตานีถนนนี้เชื่อมระหว่างตัวเมือง ซึ่งตั้งต้นจากที่ตั้งของที่ทำการไปรษณีย์ปัตตานี เลียบแม่น้ำปัตตานีไปต่อกับถนนยะรัง เป็นเส้นทางรถยนต์เชื่อมระหว่างปัตตานีกับจังหวัดยะลา
เจ้าเมืองปัตตานีราชวงค์กลันตันจะบังติกอที่ปกครองเมืองปัตตานีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2388-2449 มีทั้งหมด 5 พระองค์
1. ตนกูบือซา หรือ ตนกูมูฮัมหมัด
2. ตนกูปูเต๊ะ
3. ตนกูตีมุง หรือ รายอโต๊ะเยาะห์
4. ตนกูสุไลมานซารีฟุดดิน ไม่ได้ประทับในวังจะบังติกอ แต่ได้สร้างวังใหม่ทางทิศตะวันออกของวังเก่าติดกับมัสยิดรายอจะบังติกอปัจจุบัน
5. ตนกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดิน ได้ประทับที่วังใหม่จะบังติกอ ซึ่งเป็นวังของบิดาเป็นผู้สร้างแต่ปัจจุบันกลายเป็นที่รกร้างและเป็นเชื้อสายราชวงศ์กลันตันองค์สุดท้ายที่ปกครองเมืองปัตตานี
สถานที่ฝั่งศพของเจ้าเมืองทั้ง 5 พระองค์
1. ตนกูบือซาหรือตนกูมูฮำหมัด ศพของพระองค์ไปฝังไว้ ณ สุสานตันหยงดาโต๊ะ (แหลมโพธิ์ )
2. ตนกูปูเต๊ะ ศพของพระองค์ฝังไว้ ณ เมืองกลันตัน ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน
3. ตนกูตีมุงหรือรายอโต๊ะเยาห์ ศพของพระองค์ฝังไว้ ณ สุสานกูโบร์โต๊ะเยาะห์ ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัปัตตานี
4. ตนกูสุไลมานซารีฟุดดิน ศพของพระองค์ฝังไว้ ณ กูโบร์โต๊ะเยาะห์ ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
5. ตนกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดิน ศพของพระองค์ฝังไว้ ณ เมืองกลันตัน ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน
วังจะบังติกอ ตั้งอยู่ที่ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สร้างโดยสถาปนิกชาวจีนในสมัยตนกูมูฮัมหมัดหรือตนกูบือซา พ.ศ. 2388-2399 เชื้อสายราชวงศ์กลันตัน ( กำปงลาว์หรือบ้านทะเล)ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ตัววังล้อมด้วยกำแพงทึบก่ออิฐถือปูน รูปทรงของวังเป็นบ้านชั้นเดียวขนาดใหญ่ หลังคาทรงปั้นหยา หรือแบบลีมะ ตัวอาคารเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง 1 เมตร สร้างด้วยไม้ ภายในอาคารมีห้องโถงขนาดใหญ่ใช้เป็นที่ทำงานของเจ้าเมือง ส่วนด้านหลังของห้องโถงจะเป็นที่อยู่อาศัยของภรรยาและบริวาร วังจะบังติกอได้ใช้เป็นศูนย์กลางการปกครองในท้องถิ่นและเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าเมืองปัตตานี จนกระทั่งถึงสมัยตนกูอับดุลกอร์เดร์ เจ้าเมืองคนสุดท้าย ได้มีการยุบเมืองรวมเป็นมณฑลปัตตานี ทำให้วังซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองก็เปลี่ยนสภาพไปกลายเป็นเพียงที่อยู่อาศัยของบุตรหลานสืบต่อมาถึงปัจจุบัน
ขอบคุณที่มา https://yala-patani-naratiwat.blogspot.com/